เรื่องเล่าจากงานวิจัย




โรงเรียนสร้างสุข
ณัฏฐ์นรี  โสภากันต์
นักเรียนไทยมีปัญหา เบื่อ-เครียด-ทุกข์ตกอยู่ในภาวะที่นักวิชาการเรียกว่า โรคสมองบวมซึ่งเป็นวาทกรรมของนักการศึกษาโดยจะเห็นได้จากการที่ รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านได้ให้ความคิดเห็นว่า ปรากฏการณ์โรงเรียนเด็กในเมือง มีความรุนแรง มีสภาพสังคมน่าเบื่อมาก น่าเป็นห่วง ทั้งที่โรงเรียนควรเป็นสถานที่เปิด มีความสนุกสนาน เด็กไปโรงเรียน แล้วได้ไปหาสังคม ไปหาเพื่อน แต่กลับกลายเป็นสถานที่ที่น่าเบื่อหน่ายโรงเรียนมุกดาวิทยานุกูล เป็นอีกโรงเรียนที่เกิดปัญหาข้างต้น
ก่อนโครงการวิจัย รูปแบบกิจกรรมเสริมเพื่อสร้างความสุขในการเรียนการสอนแก่ครูและนักเรียน  โรงเรียนมุกดาวิทยานุกูล  ตำบลบางทรายใหญ่  อำเภอเมืองมุกดาหาร  จังหวัดมุกดาหารของ อาจารย์ณัฏฐ์นรี  โสภากันต์ และคณะ จะเข้าไปสร้างกระบวนวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในโรงเรียน ผู้บริหารคนปัจจุบันผู้อำนวยการชาตรี ประดุจชนม์ คณะครู และนักเรียน กำลังเผชิญกับความเหน็ดเหนื่อยจนไม่สามารถเก็บอาการที่แสดงออกมาได้  ซ้ำร้ายนักเรียนบ้างคนยังต่อต้านความทุกข์ด้วยการสร้างปัญหาเรื่องชู้สาว ยาเสพติด หรือการแสดงอาการไม่สนใจเรียนแต่ทางโรงเรียนก็ได้หาทางออกอย่างไม่มีจุดหมายไม่มีทิศทางไม่มีรูปแบบ ยิ่งแก้ปัญหา  ความรุนแรงของปัญหาก็ยิ่งมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ
เมื่อนักวิจัยได้ดำเนินการโดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ตั้งแต่การสรรหาอาสาสมัครนักวิจัยในพื้นที่ การค้นหาโจทย์วิจัยจากปัญหาของคนในพื้นที่  การสำรวจข้อมูลที่เป็นทุนเดิมของโรงเรียนและพื้นที่รอบโรงเรียน การสำรวจปัญหาและอุปสรรค จึงพบปัญหาที่แท้จริงที่ทีมวิจัยทุกคนไม่คาดคิด ปัญหานั้นคือ โรงเรียนมีความทุกข์ ซึ่งคำว่าโรงเรียนในที่นี้หมายถึง ผู้บริหาร ครู และนักเรียน อีกทั้งเจ้าความทุกข์ที่ว่ายังส่งผลให้ครูทุกข์ที่สอนนักเรียนให้ดีไม่ได้  นักเรียนทุกข์เพราะติด 0 ร มศ.  ผู้ปกครองทุกข์เพราะคาดหวังกับลูกและฝากความหวังไว้กับโรงเรียน
เมื่อมีทุกข์ก็ต้องมีทางดับทุกข์ ทีมวิจัยได้หาวิธีการดับทุกข์ของโรงเรียนจากหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา  เรื่อง ศีล-สมาธิ-ปัญญา  ทีมวิจัยเชื่อว่าถ้าผู้ใดถึงพร้อมด้วยสมาธิแล้วย่อมก่อเกิดปัญญาได้ง่าย ทีมวิจัยได้ร่วมกันวางแผนและออกแบบกิจกรรมเสริมที่คิดว่าสร้างความสุขให้โรงเรียน ด้วยกิจกรรมเสริมสร้างสมาธิ ที่เรียกกันว่า เบรนด์ ยิม (Brain gym)เป็นกิจกรรมการบริหารสมองช่วยพัฒนาเส้นประสาทตามแนวทางธรรมชาติด้วยการ เคลื่อนไหว โดยเริ่มปฏิบัติการกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่หน้าเสาธงทุกเช้า 5-10 นาที ก่อนทำกิจกรรมหน้าเสาธง ผลการทดลองในสัปดาห์แรกพบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นมีสมาธิในการเรียนมากขึ้น มีความสุขในการเข้าแถวและชอบกิจกรรมเสริมเรียกสมาธิ เบรนด์ ยิม (Brain gym) จนทำให้คนทั้งโรงเรียนเห็นความสำคัญของการทำสมาธิถึงกับแพร่กระจายไปทั่วทั้งโรงเรียนเกิดเป็นโรคระบาดความสุข 
โรงเรียนยังไม่หยุดการสร้างสรรค์กิจกรรมสร้างสุขแต่เพียงเท่านี้ มีการออกแบบกิจกรรมเสริมที่สร้างความสุขให้กับโรงเรียนในรูปแบบต่างๆ และอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น กิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่เป็นกิจกรรมที่โรงเรียนทำทุกปีแต่ปีนี้มีข้อแตกต่างที่นักเรียนมีความสุขและสนุกกับกิจกรรมมากขึ้น ได้เรียนรู้มากยิ่งขึ้นเนื่องจากสถานที่นักเรียนในแต่ละกลุ่มที่จะไปพวกเขาเป็นผู้เลือกเอง ประกอบกับครูได้ใช้แนวคิดการมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมทำให้นักเรียนได้แสดงออกมากยิ่งขึ้น กล้าเสนอแนวความคิดเห็น  เกิดการเรียนรู้จากการได้ปฏิบัติการจริง จน ณ ปัจจุบันนี้โรงเรียนมุกดาวิทยานุกูลก็เป็นโรงเรียนสร้างสุข ไปเสียแล้ว
โรงเรียนสร้างสุขแห่งนี้ยังไม่หยุดกิจกรรมเสริมแต่เพียงเท่านี้ หลังจากที่ปิดโครงการวิจัยแล้วโรงเรียนสร้างสุขแห่งนี้ได้คิดกิจกรรมเสริมที่สลับกับเบรนด์ ยิมคือกิจกรรมเต้นรำท่าประจำกลุ่มอาเซียน
ขอกระซิบบอกว่าประเทศแรกที่เลือกคือประเทศ สปป.ลาว ชื่อท่าเต้นคือ บาสโล๊ป
(PASLOP) ลักษณะท่าเต้นเหมาะกับการฝึกสมาธิเสียจริงๆแถมยังมีจังหวะจะโคนที่สนุกสนานอีกต่างหาก คุณครูและนักเรียนบางส่วนซ้อมเต้นกันแล้ว  ตอนนี้ทุกคนก็เฝ้ารอเวลาให้โรงเรียนเปิดภาคเรียนใหม่เพื่อจะได้มาทำกิจกรรมเสริมอย่างมีความสุขร่วมกันอีกครั้ง    




กระบวนการวิจัยที่ถูกฝังชิพ
ณัฏฐ์นรี  โสภากันต์
 “พี่คิดว่า พี่จะเลิกทำผลงานทางวิชาการชิ้นนี้แล้วเชียวน๊ะ แต่พอพี่ได้ร่วมทีมวิจัยแล้วพี่ก็เห็นทางสว่างในการทำผลงานทางวิชาการของพี่ให้เสร็จแล้วละ”  นั้นเป็นคำบอกเล่าเชิงพร่ำบ่นของอาจารย์นุศรา   สุพร รองผู้อำนวยการโรงเรียนมุกดาวิทยานุกูล หนึ่งในทีมนักวิจัยโครงการวิจัย รูปแบบกิจกรรมเสริมเพื่อสร้างความสุขในการเรียนการสอนแก่ครูและนักเรียน  โรงเรียนมุกดาวิทยานุกูล  ตำบลบางทรายใหญ่  อำเภอเมืองมุกดาหาร  จังหวัดมุกดาหารเมื่อโครงการวิจัย ได้ขับเคลื่อนตามกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมได้สักระยะหนึ่งแล้ว

รองผู้อำนวยการนุศรา   สุพร ได้ทำผลงานทางวิชาการเรื่อง รายงานการพัฒนาครูด้านการผลิตและใช้สื่อเทคโนโลยีการศึกษาในกิจกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนมุกดาวิทยานุกูล จังหวัดมุกดาหาร”  หลายปีก่อน  แต่ผลงานชิ้นนี้ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้นจากสาเหตุภาระงานในตำแหน่งหน้าที่ปัจจุบันที่มากมาย  อีกทั้งตัวลักษณะงานที่ขอผลงานทางวิชาการมีวิธีการทำคล้ายกับกระบวนการของงานวิจัยแบบปฏิบิติการอย่างมีส่วนร่วมทำให้รองผู้อำนวยการท่านนี้และครูอีกหลายคนเกิดความหวาดกลัวไม่กล้าแม้จะทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง
ผนวกเข้ากับปัญหาของ ครูและนักเรียนในโรงเรียนที่ต้องดูแล ที่มีปัญหาที่แตกต่างกัน อาทิเช่น ปัญหาเรื่องชู้สาวของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น  ปัญหาเรื่องยาเสพติด ปัญหาเรื่องการไม่ตั้งใจเรียนของนักเรียนส่งผลให้ได้ผลการเรียนเป็น 0 ร มส. ปัญหาของครูที่มีความทุกข์ไม่ต้องการนำนักเรียนไปเข้าร่วมกิจกรรมกับจังหวัดและบ่อยครั้งมักเป็นคำสั่งเร่งด่วน ครูให้เหตุผลว่าสอนไม่ทัน  เตรียมตัวไม่ทัน และปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่จะต้องแก้ไข
เมื่องานวิจัยรูปแบบกิจกรรมเสริมเพื่อสร้างความสุขในการเรียนการสอนแก่ครูและนักเรียนฯ ที่มีอาจารย์ณัฏฐ์นรี  โสภากันต์ เป็นหัวหน้าโครงการ ได้เข้ามาปฏิบัติการร่วมกันทั้งนักวิชาการที่เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหารและคณะครู นักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ เริ่มตั้งแต่การหาอาสาสมัครนักวิจัยในพื้นที่ การค้นหาโจทย์วิจัยจากปัญหาของคนในพื้นที่  การสำรวจข้อมูลที่เป็นทุนเดิมของโรงเรียนและพื้นที่รอบโรงเรียน การสำรวจปัญหาและอุปสรรค ซึ่งในช่วงที่มีการหาอาสาสมัครนักวิจัยในพื้นที่ รองผู้อำนวยการนุศรา สุพร ก็เป็นหนึ่งในอาสาสมัคร 
จากการที่ได้เข้าร่วมปฏิบัติการในทุกขั้นตอนของการดำเนินการวิจัย ทำให้เข้าใจ เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติการร่วม ความรู้ที่ได้เกิดการฝังรากลึกจนเป็นความเคยชินที่สามารถนำมาปฏิบัติได้ประหนึ่งการฝังชิพให้กับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ต้องประมวลผล ตรวจสอบ ตอบรับ กับคำสั่งที่เข้ามาโดยอัตโนมัติซึ่งทำให้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ฝังชิพตัวนั้นกลายเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะสามารถคิดวิเคราะห์ได้ด้วยตนเอง
ถ้าเปรียบเทียบแล้วทีมวิจัยในพื้นที่ก็เป็นเช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ยังไม่มีชิพแล้ววันหนึ่งก็มีนักคอมพิวเตอร์อย่างนักวิจัยถือซิพกระบวนการ วิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม  ไปฝังให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวจนก่อเกิดประโยชน์อันอเนกอนันต์ต่อวงการศึกษาและประเทศชาติเฉกเช่น ผลงานทางวิชาการเรื่อง รายงานการพัฒนาครูด้านการผลิตและใช้สื่อเทคโนโลยีการศึกษาในกิจกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนมุกดาวิทยานุกูล จังหวัดมุกดาหาร ของ รองผู้อำนวยการนุศรา สุพร ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดได้จากเว็บไซต์ http://www.secondary22.obec.go.th/view.php?article_id=3415 ผู้เขียนจึงขอเรียกงานวิจัยที่ใช้กระบวนวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้ว่า กระบวนวิจัยแบบฝังชิพ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ชิพดังกล่าวที่ถูกฝังคงถูกใช้ประโยชน์ในการต่อยอดเป็นผลงานที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาและประเทศชาติสืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น